วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2553

การลดน้ำหนัก

แนวทางการลดน้ำหนักเพื่อการมีสุขภาพดี
ถ้าการลดน้ำหนักเป็นเรื่องง่าย เราก็คงเห็นคนผอม ๆ หุ่นดี ๆ เดินทั่วไป แต่ในทางปฏิบัติกลับทำได้ยากยิ่ง ทั้งที่บางคนมีการศึกษาหาแนวทาง หารูปแบบต่าง ๆ วิธีแล้ววิธีเล่าก็ยังไม่สามารถควบคุมน้ำหนักได้ดังที่ใจปรารถนา และที่สำคัญผู้ลดน้ำหนักส่วนใหญ่ลืมเน้นการลดน้ำหนักไปพร้อมกับการดูแลสุขภาพที่ดี มีข้อมูลจากหลายแหล่งชี้ให้เห็นว่าการลดน้ำหนักบางวิธีส่งผลเสียต่อสุขภาพในภายหลัง ดังนั้นในบทความนี้ จึงมุ่งเน้นแนวทางการลดน้ำหนักควบคู่ไปกับการส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดีด้วย
ทำไมจึงต้องลดน้ำหนักให้อยู่ในระดับที่ส่งเสริมการมีสุขภาพดี
การมีน้ำหนักเกินหรือความอ้วนไม่ใช่แค่เพียงก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับความสวยงามของรูปร่างสรีระเท่านั้นแต่ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของบุคคลทั้งในด้านร่างกายและจิตใจด้วย โรคอ้วนกำลังเป็นที่ยอมรับว่าเป็นโรคระบาดของโลกและกำลังเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่ร้ายแรง ในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศหนึ่งที่กำลังประสบปัญหาการมีคนอ้วนเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง และมีการเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพของคนกลุ่มนี้ในปริมาณที่สูงด้วย โดยพบว่าในผู้ชายในสหรัฐอเมริกาที่มีอายุสูงกว่า 30 ปี ร้อยละ 50 มีน้ำหนักมากเกินมาตรฐาน และร้อยละ 25 เป็นโรคอ้วน ส่วนผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไปเป็นโรคอ้วน ถึงร้อยละ 15-30
บุคคลที่มีน้ำหนักเกินหรือมีความอ้วนยังจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ได้มากกว่าคนน้ำหนักปกติ เช่น มีโอกาสเกิดโรคหัวใจวายมากขึ้นเป็น 3 เท่าของคนปกติ และยังมีโอกาสเป็นโรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคนิ่วในถุงน้ำดี นอกจากนี้ยังมีความโน้มเอียง ที่จะเป็นโรคกระดูกและข้อเสื่อม มีปัญหาการปวดหลัง ปวดข้อ โรคเกี่ยวกับต่อมต่าง ๆ ในร่างกายผิดปกติ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งเต้านม หรือมะเร็งมดลูกได้ และยังพบว่าคนอ้วนมักอายุสั้น มีความต้านทานโรคต่ำ และติดโรคง่าย มีอัตราการป่วย และการตายสูง บุคลเหล่านี้ เมื่อต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดก็มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่า และยังพบภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่นในขณะตั้งครรภ์หรือคลอดบุตร นอกจากนี้คนอ้วนมักอึดอัด เคลื่อนไหวไม่สะดวก เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย มักเหนื่อยง่าย ปวดศีรษะ และมีปัญหาเกี่ยวกับการทรงตัว สุขภาพจิตไม่ค่อยดี เพราะแต่งกายให้สวยงามได้ยาก เกิดปมด้อย หงุดหงิด เครียด วิตกกังวล และมักมีปัญหาเกี่ยวกับการถูกล้อเลียน เกิดความสับสนในชีวิต ประสบปัญหาในครอบครัวหรืออาชีพบางอย่างมีขีดจำกัดสำหรับคนอ้วนซึ่งการมีน้ำหนักเกินนี้ สามารถประเมินได้จากดัชนีมวลกาย Body Mass Index (BMI) เพื่อประเมินหาส่วนไขมันในร่างกาย ซึ่งมีสูตรดังนี้ ดัชนีมวลกาย (BMI) = น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม / ส่วนสูงเป็นเมตร2 ตามเกณฑ์ส่วนใหญ่ของประเทศทางเอเชียผู้ที่มีดัชนีมวลกายมากกว่า 23 กิโลกรัม/ตารางเมตร จัดว่าเป็นโรคอ้วน ดังนั้นการลดน้ำหนักให้มาอยู่ในระดับที่เหมาะสมคือมีค่าดัชนีมวลกายไม่เกิน 23 น่าจะเป็นทางเลือกให้กับแต่ละบุคคลเพื่อการมีสุขภาพที่ดีได้ แต่อย่างไรก็ตามการลดน้ำหนักที่ถูกต้อง จะต้องอาศัยความตั้งใจ การเรียนรู้ การมีวินัยในตนเองในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างต่อเนื่องทั้งในเรื่องการควบคุมอาหารที่รับประทาน การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จึงจะนำไปสู่การควบคุมน้ำหนักอย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้ได้
ทำไมคนเราจึงอ้วน
ในวงการแพทย์ปัจจุบันมีความคิดเห็นตรงกันว่าการที่ร่างกายอ้วนเกินไปหรือมีน้ำหนักมากเกินไปนั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพดังที่กล่าวข้างต้น แพทย์ชาวอเมริกันที่เชี่ยวชาญในเรื่องอ้วน ได้ทำการศึกษาถึงสาเหตุที่ทำให้คนเราอ้วนขึ้นและพบว่ามีปัจจัยสำคัญมีดังนี้
1. กรรมพันธุ์มีอิทธิพลสามารถถ่ายทอดกันในครอบครัวได้ จากสถิติถ้าพ่อและแม่อ้วน
ลูกมีโอกาสอ้วนร้อยละ 80 ถ้าพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งอ้วนลูกมีโอกาสอ้วนร้อยละ 40 และถ้าพ่อและแม่ไม่อ้วนเลย ลูกมีโอกาสอ้วนร้อยละ 10 เท่านั้น
2. การรับประทานอาหารมากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ สัดส่วนของอาหารกับการ
ใช้พลังงานไม่เหมาะสม เกิดพลังงานส่วนเกินสะสมในร่างกายในรูปของไขมัน เนื่องจากรับประทานมาก แต่ใช้พลังงานปกติหรือใช้พลังงานน้อย รับประทานปกติแต่ใช้พลังงานน้อย
3. การออกกำลังกายหรือการมีกิจกรรมทางกาย ปัจจุบันมีเครื่องอำนวยความสะดวกมากขึ้น จึงทำให้สัดส่วนของคนเรามีกิจกรรมทางกายหรือออกกำลังกายน้อยลง ทำให้ร่างกายใช้พลังงานลดลง แต่การนิสัยการรับประทานอาหารไม่ได้เปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับความต้องการของพลังงานจึงทำให้เกิดการสะสมไขมัน เพราะการออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มการเผาผลาญพลังงานในร่างกายจึงใช้ไขมัน แป้งน้ำและตาลที่กินเข้าไป ให้เกิดประโยชน์เป็นพลังงาน แต่ถ้าพลังงานไม่ได้ถูกใช้อย่างเหมาะสม ทำให้สารอาหารที่จะสร้างพลังงานเหลือเก็บไว้ เช่น กลูโคสเหลือเก็บไว้ในรูปของไกลโคเจนหรือไขมัน เป็นต้น ทำให้เกิดการพอกพูนไขมันตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ดังนั้น การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอโดยใช้การเดินเร็วติดต่อกันนาน 30 นาที ประมาณ 3-4 วันต่อสัปดาห์ จะมีผลทำให้น้ำหนักลดลงประมาณ 0.3 กิโลกรัมต่อสัปดาห์
ดังนั้น สามารถสรุปได้ว่าความอ้วนจะเกิดขึ้นได้จากกรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อม เช่น พื้นฐานทางทางด้านวัฒนธรรม นิสัยการบริโภคอาหาร การดำรงชีวิตลักษณะของกิจกรรมในการดำรงชีวิต ความไม่สมดุลระหว่างพลังงานที่ได้รับจากอาหารเข้าไปกับพลังงานที่ร่างกายใช้ไปในแต่ละวัน จึงทำให้มีพลังงานเหลือก็จะถูกเก็บสะสมไว้ในรูปของ Triglyceride ซึ่งเป็นไขมันตามร่างกายทำให้เกิดไขมันส่วนเกิน และมีผลทำให้เกิดภาวะอ้วน
หลักในการลดหรือควบคุมน้ำหนัก
ในการลดน้ำหนักสิ่งสำคัญที่สุดคือจะต้องมีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะคอยคุมน้ำหนัก มีจิตสำนึกที่ดีว่า ไม่ควรปล่อยให้มีความอ้วนเกิดขึ้น ไม่ปล่อยตัวเองให้เป็นทาสของความอยากของอาหาร “พึงระลึกไว้เสมอ กินเพื่ออยู่ เพื่อสุขภาพที่ดี ไม่ใช่อยู่เพื่อกิน” โดยหลักสำคัญในการลดหรือควบคุมน้ำหนักประกอบด้วย การควบคุมอาหาร การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น